แม่จัน…เมืองผ่านที่ไม่อยากให้เลยไป
ร้างลางานเขียนมานาน พอๆกับระยะเวลาที่ปิดทองปันมาหลายเดือน กลับมากระตุ้นตัวเองอีกสักครั้ง นึกๆ ดูแล้ว เขียนถึงที่โน้น เขียนถึงที่นี้ แต่ยังไม่ได้เขียนถึงเมืองที่ตั้งของบ้านเราบ้างเลย “แม่จัน” อำเภอที่จริงๆ ไม่เล็กแต่มักถูกผ่านเลยไปเสมอ เพราะเป็นชุมทางผ่าน เชื่อว่านักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเชียงราย แม้จะเป็นเที่ยวเร่งรีบวันเดียว หรือเที่ยวตะลอนๆ ค่ำไหนนอนนั้นชิวๆ ก็ต้องเคยผ่าน แต่แค่ว่าจะได้ทันสังเกตและจดจำหรือไม่ ก็เท่านั้นเอง
แม่จันครอบคลุมพื้นที่ติดต่อกับเส้นทางต่างๆ เช่น ถ้าวิ่งตามถนนพหลโยธิน เลยตัวเมืองเชียงรายและสนามบินแม่ฟ้าหลวง ขึ้นเหนือมาอีกประมาณ 30 นาที ก็ถึงตัวอำเภอแม่จัน ถ้าวิ่งเลยแม่จันขึ้นไปอีกแป๊บเดียวก็จะเจอดอยตุง, ไร่ชาฉุยฟง, ขุนน้ำนางนอน, แม่สาย หรือแยกไปทางตะวันออก ก็จะไปเชียงแสน, ดอยหลวง, เวียงเชียงรุ้ง ถ้าวิ่งแยกไปทางตะวันตก ตามถนนทางหลวง แม่จัน-ฝาง ก็จะไปดอยแม่สลอง, สวนส้มต่างๆ วิ่งไปอีกนิดก็เข้าสู่เชียงใหม่ ท่าตอน, แม่อาย, ฝาง, ทางขึ้นดอยอ่างข่าง, ดอยผ้าห่มปก และอ.เชียงดาว มุ่งลงสู่จังหวัดเชียงใหม่ เห็นไหมล่ะ แม่จันเป็นชุมทางที่ทุกคนต้องผ่าน…และมักเลยไปเสมอ สมัยก่อนดอยตุง, ดอยแม่สลอง ก็อยู่ในเขตอำเภอแม่จันนี่แหละ แต่พอตอนหลัง แยกเป็นอำเภอแม่ฟ้าหลวงออกไป แม่จันก็เลยยิ่งถูกลืมชื่อไปเรื่อยๆ ถึงตอนนี้ อยากจะบอกให้ทุกคนหยุดแวะทักทายกันบ้าง หรือถ้าคิดอีกแง่ พักแถวนี้ ไปได้ทุกที่และใช้เวลาเดินทางไม่ไกลจนปวดก้น
ร้านฮิตๆ ของนักท่องเที่ยวอย่าง พาราโบล่า, All about sweet และอีกหลายๆร้านเก๋ๆ ที่กำลังผุดขึ้นมา ก็อยู่เขต อ.แม่จันนะ ถ้ามาจากตัวเมืองเชียงราย ก็จะถึงร้านดังกล่าวก่อนตัวอำเภอ คนเลยมักนึกว่าไม่ได้อยู่แม่จัน หน้าบ้านนอกรั้วก็เลยดูเหมือนจะครึกครื้นกว่าในบ้านและหลังบ้านไปซะหน่อย นี่ พยายามเปรียบเทียบให้เห็นภาพสุดๆ
เข้าบ้านกันเลยดีกว่า…
ผ่านด่านตรวจจุดหลัก ก็ถือว่าเข้าสู่ตัวอำเภอแม่จันแล้ว ด่านนี้ออกข่าวบ่อยนะ ตรวจจับยาเสพติดได้บ่อยๆเลย ผลงานอลังการมาก แต่ทำยังไงก็ไม่หมดซะที เลยด่านมานิด ทางซ้ายมือ จะเป็นศาลเจ้าพ่อกิ่วทัพยั้ง และรูปปั้นของสมเด็จพระนเรศวร สามารถแวะเคารพสักการะได้ ส่วนทางขวามือตรงข้าม เป็นทางเข้าสวนป่ากิ่วทัพยั้ง มีต้นไม้หนาแน่น หนองน้ำ ให้คนมาตกปลาได้ และมีลานกางเต็นท์หากใครอยากพักคืน
ตรงมาอีก ผ่านโรงพยาบาลแม่จันแล้ว ก็จะเจอ 3 แยกใหญ่ๆ ถ้าเบี่ยงไปทางขวา ตามถนนพหลโยธิน ก็คือ เดินทางต่อไปแม่ฟ้าหลวง, แม่สาย, เชียงแสน
แต่ถ้าเบี่ยงซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 107 แม่จัน-แม่อาย-ฝาง ถ้ามาทางนี้ เลี้ยวซ้ายมานิดเดียวก็จะเจอทางแยกขวาเลี้ยวเข้าถนนเส้นหลักของตัวอำเภอแม่จันแล้วจ้า
ตัวอำเภอแม่จัน มี 2 ดอยโอบล้อมอยู่ คือ ดอยจระเข้ และ ดอยนางนอน ทำให้อากาศเย็นสบายกว่าตัวเมืองเชียงรายและอำเภอใกล้เคียง บนดอยจระเข้ที่ทอดยาวขนานไปกับเส้นทางหลวง 107 แม่จัน-ฝางนั้น เป็นที่ตั้งของวัดท้องถิ่น 2 วัด นั่นคือ วัดบ้านสัน (มีพระนอนสีทององค์ใหญ่) และ วัดดอยโตน (มีพระนั่งสีขาวองค์ใหญ่) ซึ่งวัดนี้จะมีจุดชมวิว มองกลับมา จะเห็นวิวตัวอำเภอแม่จันทั้งหมดและมีดอยนางนอนทอดยาวเป็นพื้นหลัง หน้าฝนสวยที่สุดในสายตา เพราะมีทุ่งข้าวเขียวๆ ขนานไปด้วย
ตัวอำเภอแม่จันจริงๆ มีขนาดเล็ก วนแป๊บเดียวก็รอบแล้ว ถนนเส้นกลางของตัวอำเภอก็เหมือนอำเภออื่นๆ เป็นถนนหลักเศรษฐกิจ ตัดผ่านหน้าที่ว่าการอำเภอและสถานีตำรวจ ตลาด ท่ารถ แต่ทุกวันศุกร์ ตั้งแต่ 4 โมงเย็น-สามทุ่มโดยประมาณ ถนนรถวิ่งจะถูกเปลี่ยนเป็น “ถนนคนเดินแม่จัน” ครึ่งหนึ่งเป็นชาวไทยภูเขาขนของป่า ผักผลไม้พื้นเมืองลงมาขาย อีกครึ่งเป็นคนเมืองขายอาหารสุก ขนม เครื่องดื่ม เสื้อผ้าและสินค้าตลาดนัด เครื่องเล่นเด็กๆ มีครบทุกวัย ถนนคนเดินเลยครึกครื้นมาก เหมือนว่า เรามีงานวัดกันทุกวันศุกร์อะไรแบบนั้น
ถนนคนเดินที่เชียงรายของแต่ละอำเภอจะเหมือนตกลงกันไว้แล้ว แม่ค้าพ่อค้าบางคนก็วิ่งรอก วันศุกร์มาขายที่แม่จัน วันเสาร์ไปขายที่ตัวเมืองเชียงราย ถนนคนเดินเส้นสวนตุง-หอนาฬิกา ส่วนแม่สาย ก็มีถนนคนเดินทุกวันเสาร์ ของสัปดาห์ที่ 2, 4 ของเดือน พอวันอาทิตย์ ก็มีถนนคนม่วนที่ตัวเมืองเชียงราย เส้นสันโค้งน้อย ดังนั้นใครมาเชียงรายช่วงสุดสัปดาห์ ไม่ต้องห่วงว่าจะพลาดถนนคนเดินกันนะ แต่ขอโม้ว่า ถนนคนเดินแม่จัน เป็นถนนคนเดินเพียงที่เดียวของเชียงรายที่มีชาวไทยภูเขานำของและวัตถุดิบจากป่ามาขายให้เราได้ลองจับจ่ายหรือเดินดูเพื่อสังเกตวิถีชีวิต ถือว่า Exotic ที่สุดๆแล้ว แขกญี่ปุ่นที่มาพักทองปัน ติดใจมากกว่าที่ไหนๆ สามารถซื้อน้ำผึ้งจากป่าแท้ๆ ได้ในราคาแสนถูก Think of Exotic, Think of Maechan นะ
ในตัวอำเภอแม่จัน มีตลาด 4 จังหวะ (จากการสังเกตด้วยตัวเอง) ตลาดเช้าแม่จัน เป็นตลาดใหญ่มาก อยู่ตรงข้ามโรงเรียนบ้านแม่จัน เปิดตั้งแต่ตี 4 ถึง 8 โมงเช้าก็เริ่มวาย แม่ค้าพ่อค้าขายปลีกต่างๆ จากทั่วแม่จัน จะวิ่งมาซื้อส่งที่นี่ เอากลับไปแบ่งขายปลีกที่ร้านตัวเอง แต่ชาวบ้านทั่วไปทั้งคนเมือง คนดอย ก็สามารถแบ่งซื้อปลีกจากตลาดนี้เช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นตลาดสำหรับทั้งรายใหญ่รายย่อย มีข่าวลือมานานแล้วว่า เจ้าของที่จะรื้อตลาดทำตึก แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นสักที ก็ภาวนาว่าอย่าเลย แบบนี้…มันก็ดีอยู่แล้ว
พอ 8 โมง-บ่าย 3 แม่ค้าพ่อค้าบางส่วนก็ย้ายไปตลาดเย็น หรือ “กาดแลง” (เขาเรียกกันติดปากแบบนี้ ทั้งที่เปิดสายถึงบ่ายๆ) อยู่บนถนนเส้นหลักของอำเภอ แถวท่ารถสองแถว, ท่ารถเมล์ จะมีซอยเข้าตลาดอยู่ตรงนั้น ป้ายว่า ซอยหิรัญนคร 18 (แต่เชื่อเถอะ ไม่มีใครเรียก) มีส่วนของตลาดของสดอยู่ด้านในซอยลึกๆ แต่ไม่ใหญ่มาก โซนนี้จะเน้นร้านรวงขายเครื่องครัว, ผ้าเมตร, เสื้อผ้า, เครื่องประกอบอาชีพต่างๆ, เครื่องใช้ไฟฟ้า
พอหลังเลิกงาน 3 โมงเย็น – ไม่เกิน 6 โมงเย็น ก็จะเป็นคิวของตลาดเย็นที่แท้จริง แต่คนเรียกติดปากว่า ตลาดธิดาพร อยู่ติดกับ 7-11 แห่งเดียวของอำเภอ ย่อทุกอย่างจากตลาดเช้าลงมาเหลือ ¼ แต่มีครบหมด เน้นกับข้าวสุก , ผลไม้ สำหรับบ้านที่ไม่อยากทำอาหารเย็น ก็แวะมาซื้อเผื่อไปถึงพรุ่งนี้เช้าด้วยก็มี
ตลาดจังหวะสุดท้ายคือ หลัง 6 โมงเย็น เป็นต้นไป ก็เป็นเรื่องของตลาดโต้รุ่ง ที่สำหรับคนที่ลืมไปตลาดทั้งวัน แล้วไม่มีอะไรในตู้เย็นให้ทำกิน ก็มาทานอาหารตามสั่งกันได้ อยู่ตรงข้ามหน้าวัดกาสา วิ่งตามถนนเส้นหลัก ผ่านสถานีตำรวจ ผ่านตลาดเย็น ผ่านป้อมตำรวจ ตามถนนเส้นหลักมาเรื่อยๆ โค้งซ้ายมาก็จะเห็นวัดกาสา ก็มองฝั่งตรงข้ามได้เลย ที่นี่คือแหล่งน้ำเต้าหู้ เต้าฮวยร้อนก่อนเข้านอนของฉัน และข้าวซอยเจ้าอร่อยของแม่จันอยู่ต้นซอยเลย จะเอาไว้แก้ขัดเวลาแม่ไม่อยู่
มีร้านที่อยากแนะนำใกล้ๆ ตลาดโต้รุ่ง คือ ร้านผัดไทยป้าดาข้างศาลเจ้า เป็นร้านผัดไทยขนาดเล็กของตายายคู่หนึ่ง อาจจะช้าหน่อย แต่ลูกค้าประจำเหนียวแน่น บางคนจากตัวเมืองเชียงรายต้องสั่งรถตู้วิ่งมาซื้อกันเลย เปิดตั้งแต่เช้ายันค่ำ เจ้าของขยันมาก มีอยู่แค่ 3 เมนู ผัดไทยธรรมดา พิเศษ และห่อไข่ และมีแต่เครื่องผัดไทยทั่วไป ไม่มีไก่ กุ้งตัวใหญ่แบบร้านผัดไทยประยุกต์อื่นๆ อุ้ยเจ้าของร้านผัดเตาถ่าน ผัดไทยยายเลยหอมและเส้นเหนียวพอดี เครื่องเข้าเนื้อกันสุดๆ ไปทีไรกินหมดเกลี้ยงตลอดและจานเดียวอิ่มพอดี ใครมาแม่จัน เรียนเชิญมาชิมได้
ส่วนร้านอาหารไทยกินจริงจังเลย ร้านโปรด ก็มี ร้านแหนมเนือง NP อยู่ระหว่างการประปาแม่จัน กับ โรงพยาบาลแม่จัน เขามีป้ายเด่นมากบอกทางตลอด เข้าซอยไปขึ้นเนินสูง ทานแหนมเนืองและก๋วยจั๊บญวณอร่อยๆ และชมวิวตัวอำเภอแม่จันไปด้วย เลอค่ามาก
ตอนนี้คิดว่าเห็นภาพตัวอำเภอแม่จันจนครบแล้ว ไปปั่นจักรยานออกนอกตัวอำเภอกันดีกว่า ไปไหนก่อนดี
บ้านเย้าธรรมจาริก หนองแว่น ห่างไปประมาณ 7 กิโลเมตร จากที่ว่าการอำเภอแม่จัน วนวงเวียน แล้วผ่านหน้าโรงเรียนบ้านแม่จัน ก็ยึดสี่แยกไปรษณีย์ ตัดถนนพหลโยธินเป็นหลัก ตรงขึ้นไป หรือถ้ามาจากตัวเมืองเชียงรายตามเส้นพหลโยธิน พอถึงสี่แยกไปรษณีย์แม่จัน เลี้ยวขวาเข้าสู่เขตบ้านหนองแว่น เข้าไปเรื่อยๆ จะผ่านทุ่งนาข้าว (สวยอลังการ) ผ่านหมู่บ้านคนเมืองอยู่สลับกับหมู่บ้านชาวไทยภูเขา ช่วงต้นๆ จะเป็นเผ่าอาข่า เรียกว่า จอป่าคา เพราะมีหญ้าคาเยอะ ปัจจุบันใครอยากหาคาไปมุงบ้าน ต้องมาหาแถวนี้ หญ้าคาที่มุงหลังคาที่พักทองปัน ก็เหมาจากแถบนี้ทั้งหมด ส่วนหมู่บ้านด้านในก็เป็นเผ่าเย้า พอวิ่งเข้ามาเกือบสุดท้าย สามารถสังเกตุได้จากเห็นร้านขายผ้าพื้นเมือง และของที่ระลึกของชาวไทยภูเขา ตั้งเรียงราย เปิดบ้างไม่เปิดบ้าง ก็จอดรถได้เลย แล้วเดินชมบรรยากาศความเป็นอยู่ได้รอบๆ หมู่บ้าน, วัด และโรงเรียน
ที่ต่อมาของแม่จัน ก็เป็นที่ยอดนิยม วิ่งตามเส้นพหลโยธินขึ้นไปทางแม่สาย ก็จะมีโรงงานผลิตเครื่องดื่มผลไม้โครงการหลวงตรา ดอยคำ แวะซื้อเป็นของฝากกันได้ และมีไร่ชาฉุยฟง ซึ่งก็คาดว่า หาข้อมูลในเว็บอื่นๆได้ไม่ยาก ก็ขอผ่านการเขียนถึงไป ณ จุดนี้
ย้อนกลับมาเที่ยวแม่จัน ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 107 แม่จัน-แม่อาย-ฝาง กันดีกว่า จากทองปันก็คือวิ่งไปทางซ้ายตามถนนหมายเลข 1089 ไปเรื่อยๆ เลยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคประจำอำเภอไป ก็จะเจอสามแยก เลี้ยวไปทางขวาไปรวมเข้ากับเส้นทางหลวงหมายเลข 107 คราวนี้ยิงยาวๆ ก็ถึงเชียงใหม่เลยนะ เส้นนี้เป็นเส้นโปรดปรานของฉันมากที่สุด จะขี่จักรยานหรือขับรถ ก็ประทับใจได้ไม่แพ้กัน แม่บอกว่า เดี๋ยวนี้เขาชอบแข่งปั่นจักรยานมาทางเส้นนี้ จัดมา 2 ปีละ หวังว่าปีหน้าจะจัดอีก และอีกไม่นาน เขาจะประกาศให้แม่จัน เป็นเมืองจักรยานของเชียงราย เห็นไหมละว่า ภูมิทัศน์มันต้องแจ่มขนาดไหนถึงได้รับเลือก แวะมาปั่นกันเยอะๆนะ
เส้นทางหลวง 107 นี่ มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติให้เลี้ยวเข้าไปแวะชมมากมาย แต่จะเป็นจุดเล็กๆ เงียบๆ เหมาะแก่คนที่ต้องการหลีกหนีนักท่องเที่ยวพลุกพล่าน คนที่จะรู้จัก ส่วนมากเป็นคนท้องถิ่น ดังนั้น ใครหลงมาอ่านบทความนี้ และอยากลองเป็นคนท้องถิ่น ก็แวะเลี้ยววนรถเข้าไปดูกันได้
สองข้างทางเป็นทุ่งข้าวและนาถั่วเหลือง ปลูกสลับกันแล้วแต่ฤดูกาล ปัจจุบันทุ่งนาเริ่มลดลงเรื่อยๆ เพราะเจ้าของที่พากันปล่อยขายให้ชาวไทยภูเขาที่ฐานะดี หรือนายหน้า หรือคนกรุงเทพฯ กันหมด แล้วเจ้าของใหม่ก็เนรมิตรเป็นอาคารพาณิชย์, บ้าน, โรงงาน, ที่พักก็เต็มไปหมด เสียดายก็เสียดาย แต่คงทำอะไรไม่ได้เพื่อต้านระบบทุนนิยม ก็ต้องว่ากันไป เราก็พยายามเสพสิ่งที่เหลืออยู่ให้เต็มที่แล้วกัน ตรอกซอกซอยมีเยอะมาก เลี้ยวเข้าไปวนแต่ละหมู่บ้านก็ไม่มีใครว่าอะไร จูงลงไปเดินเล่นตามคันนาก็ยิ่งสบายใหญ่ ส่วนจุดท่องเที่ยวจุดใหญ่ๆ มาลองเริ่มดูกัน
โป่งน้ำร้อน หรือ น้ำพุร้อนแม่จัน สถานที่นี้เที่ยวมาตั้งแต่สมัยเด็ก ไม่รู้จะไปไหน ไปต้มไข่กันเถอะ มีพัฒนาการมาโดยตลอด เดี๋ยวครึกครื้น เดี๋ยวเงียบเหงา ขึ้นกับหน่วยรัฐดูแล ช่วงนี้เงียบเหงา แต่ก็มีร่องรอยการพยายามพัฒนาหลงเหลือให้ได้เที่ยวกันได้ มีจุดต้มไข่ มีจุดออนเซ็นครึ่งตัว หรือพูดอีกอย่างว่า ก็ให้นั่งหย่อนเท้าแช่น้ำอุ่นกันได้ มีเนินเขาที่ด้านบนมีศาลให้ขึ้นไปกราบไหว้ และส่วนที่พีคที่สุดคือ มีร้านนวดแผนโบราณ ที่หมอนวดได้รับการฝึกจากโรงพยาบาลอำเภอ แล้วก็มาประจำกันอยู่ที่นี่ และมีศูนย์แพทย์ทางเลือกเคลื่อนที่จากสถาบันราชภัฎเชียงราย ให้คำปรึกษาแบบนวดรักษาและสมุนไพร เป็นที่รักของบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ในละแวกนี้มากๆ
เดินทางต่อมาเรื่อยๆ จนพบ บ้านลั๊วพัฒนา ทางซ้ายมือ เลี้ยวเข้าไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงวนอุทยานน้ำตกห้วยก้างปลา ระหว่างทางวิวทุ่งนาและบ้านชาวไทยภูเขาก็เรียกความประทับใจได้ระดับหนึ่ง ถ้าสังเกตุดีๆ จะมีบ้านไม้ของศิลปินท่านหนึ่งอยู่ซ้ายมือก่อนถึงวนอุทยานฯ ไม่แน่ใจว่าท่านเป็นใคร แต่เราทายจากลักษณะบ้านได้ในทันที ต้องเป็นใครสักคน มาถึงวนอุทยานฯ ที่จอดรถกว้างขวาง แล้วเดินเท้าต่อไปอีก 800 เมตร ข้ามสะพานไม้ไผ่เล็กๆ ก็จะถึงตัวน้ำตกห้วยกางปลา ซึ่งถือว่าเป็นปลายสายของอุทยานแห่งชาติลำน้ำกก ลักษณะเป็นน้ำตกสายเล็กๆ ทอดยาว ระหว่างทางมีแง่งหินขวางลำนำแยกซ้ายขวา เหมือนก้างปลา ช่วงมีนาคม-เมษายน คนจะเข้ามาพักผ่อนเยอะ ช่วงหน้าฝน น้ำเยอะและหินมีตะไคร้เกาะลื่นเกินกว่าจะลงเล่นน้ำ ร้านค้าสวัสดิการไม่ค่อยจะเปิด ดังนั้นเตรียมอาหารและอุปกรณ์ปิ๊กนิ๊กไปเอง น่าจะสะดวกมากกว่า
ออกจากน้ำตกห้วยกางปลา สามารถแวะเข้าไปดูหมู่บ้านลั๊วพัฒนา หมู่บ้านชาวไทยภูเขาที่ได้รับการพัฒนาเต็มรูปแบบ สมัยก่อน มีโกคาร์ทชาวไทยภูเขาให้นักท่องเที่ยวเล่นด้วย เป็นล้อเลื่อนสไลด์ลงมาตามเนินถนนสายกลางของหมู่บ้าน เคยเป็นที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง บุญชู (ไม่แน่ใจว่าภาคไหน?)
เดินทางต่อไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเรียงรายเป็นหย่อมๆ สลับกับพื้นที่เกษตรกรรมของชาวไทยภูเขา ข้าว, ข้าวโพด, ผักต่างๆ บางช่วงเส้นทางหลวง 107 อยู่ใกล้กับ ลำน้ำจัน หรือ แม่น้ำจัน มากๆ บางช่วงเส้นทางหลวงเป็นเนิน มองลงไป เห็นทุ่งนาขนาบกับลำน้ำจัน ก็เป็นอีกภาพที่สวยงามมาก ถ้าใครผ่านเส้นนี้ช่วงพระอาทิตย์ใกล้ตก จะสวยมากๆ มีจุดชมวิวลับๆ ของฉัน ที่มักจะชะลอรถเพื่อเก็บนาทีประทับใจเสมอ ก็คือ ขับรถลานทอง มานิด เป็นโค้งเนินเขา ขึ้นแล้วกำลังจะลง มองไปทางซ้ายมือ เราจะเห็น ลำน้ำจันคดเคี้ยว ขนานไปกับทุ่งนา และมีทิวเขาแดนลาวเป็นฉากหลัง แทบอยากจะหยุดลมหายใจทุกครั้งที่ผ่านจุดนี้ วันไหนใครผ่านไป อย่าลืมสังเกตุกันด้วยนะ
เดินทางต่อไปอีก จนถึงสามแยกป้อมตำรวจกิ่วสะไต ถ้าเลี้ยวขวา ก็คือ ไปดอยแม่สลอง ที่ปัจจุบันเป็นเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง แต่เราไม่เลี้ยว เราตรงไปอีก 600 เมตร ก็จะพบกับ หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ บ้านหล่อชา ชุมชนชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า (กลุ่มผาหมี) บ้านหล่อชายังรักษาเอกลักษณ์วิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้ เช่น ประเพณีโล้ชิงช้า (ช่วงปลาย สิงหาคม-กันยายน) , ประเพณีปีใหม่ไข่แดง , การล่าสัตว์โดยใช้วัสดุที่ประดิษฐ์ขึ้น, การทอผ้า, ตัดเย็นผ้า, ตีเหล็ก เป็นต้น โดยนักท่องเที่ยวสามารถศึกษาและสังเกตุการณ์วิถีเหล่านี้ได้ ค่าเข้าชม 80 บาทต่อคน โดยต้องโทรศัพท์แจ้งความประสงค์ที่จะเข้าชมก่อน (053-719-167, 053-740-088 อันนี้เอามาจากอีกเว็บ ลองตรวจสอบอีกทีนะ) แล้วทางหมู่บ้านจะจัดสมาชิกมาต้อนรับ โดยสมาชิกแต่ละครัวเรือนต้องส่งตัวแทนมาทำงานกลุ่มต้อนรับนักท่องเที่ยวในแต่ละวันๆ
พ้นจากกิ่วสะไต ก็เข้าสู่ท่าตอน จ.เชียงใหม่แล้ว ก็ถือว่า สิ้นสุดเขตอำเภอแม่จัน จ.เชียงราย แล้ว และก็ถือว่า บทความนี้ควรจะจบได้แล้วเช่นกัน
หวังว่า ทั้งหมดที่พยายามเขียนจูงใจ จะประสบผลสำเร็จในวันหนึ่ง หรืออย่างน้อย มีคำว่า “แม่จัน” เข้าไปอยู่ในลิสต์สถานที่ท่องเที่ยวเชียงรายของท่านในเร็ววัน ขอให้คนแปลกหน้าทั้งหลาย อยากมาทำความรู้จักและคุ้นเคยกับเมืองเล็กๆ เมืองนี้สักครั้ง
หวังว่าจะมีโอกาสได้เจอกัน