เที่ยวเชียงแสน
“เชียงแสน” เป็นอำเภอเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขง
ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ 59 กิโลเมตร เชียงแสนเป็นเมืองเก่าแก่มากแห่งหนึ่งในภาคเหนือ เดิมชื่อ “เวียงหิรัญนครเงินยาง” ปัจจุบันยังมีซากกำแพงเมืองโบราณ 2 ชั้น และโบราณสถานหลายแห่งปรากฏอยู่ทั้งในและนอกตัวเมือง
สถานที่ท่องเที่ยวในอำเภอเชียงแสน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน
เป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุที่ได้จากบริเวณเมืองโบราณเชียงแสนและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ลวดลายปูนปั้นฝีมือล้านนา พระพุทธรูปและศิลาจารึกจากเชียงแสนและจากจังหวัดพะเยา พร้อมทั้งให้ข้อมูลทางด้านวิชาการเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี การตั้งถิ่นฐานของชุมชน และประวัติการสร้างเมืองเชียงแสน นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงศิลปะพื้นบ้านของชาวไทยใหญ่ ไทยลื้อและชาวเขาเผ่าต่าง ๆ เช่น เครื่องเขิน เครื่องดนตรี เครื่องประดับ เป็นต้น เปิดวันพุธ-อาทิตย์ ยกเว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท โทร. 053-777102 www.thailandmuseum.com
วัดพระธาตุเจดีย์หลวงตั้งอยู่ติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน สร้างโดยพระเจ้าแสนภูเมื่อประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 19 โบราณสถานประกอบด้วยเจดีย์ประธานทรงระฆังแบบล้านนา เป็นเจดีย์ใหญ่ที่สุดในเชียงแสน นอกจากนี้ยังมีพระวิหารที่เก่ามากซึ่งพังทลายเกือบหมดแล้ว และเจดีย์รายแบบต่าง ๆ 4 องค์
วัดพระเจ้าล้านทอง
วัดนี้ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมือง เจ้าทองงั่ว ราชโอรสพระเจ้าติโลกราชเป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ.2032 ได้ทรงหล่อพระพุทธรูปองค์หนึ่งหนักล้านทอง (1,200 กิโลกรัม) ขนานนามว่า พระเจ้าล้านทอง เป็นพระประธาน ในวัดนี้ยังมีพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งได้มาจากวัดทองทิพย์ เรียกกันว่า พระเจ้าทองทิพย์ เป็นพระพุทธรูปทองเหลือง พระพักตร์งดงามมาก ลักษณะพระพุทธรูปศิลปสมัยสุโขทัย
วัดป่าสักอยู่ห่างจากอำเภอเชียงแสนประมาณ 1 กิโลเมตร เขตตำบลเวียง พระเจ้าแสนภูทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1838 และให้ปลูกต้นสักล้อมกำแพงจำนวน 300 ต้น จึงได้ชื่อว่า “วัดป่าสัก” ทรงตั้งพระพุทธโฆษาจารย์เป็นสังฆราชจำพรรษา ณ อารามแห่งนี้ ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงมณฑปยอดระฆัง ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นอันวิจิตร เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ กระดูกตาตุ่มข้างขวาจากเมืองปาฏลีบุตร
วัดพระธาตุผาเงาอยู่ห่างจากอำเภอเชียงแสนไปตามเส้นทางเชียงแสน-เชียงของ ประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ตรงข้ามโรงเรียนสบคำ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม มีเจดีย์ทรงระฆังขนาดเล็กตั้งอยู่บนหินก้อนใหญ่ วิหารปัจจุบันสร้างทับซากวิหารเดิม บนยอดเขาข้างหลังวัดเป็นที่ตั้งพระบรมพุทธนิมิตเจดีย์ เป็นจุดที่มองเห็นทิวทัศน์สวยงามได้โดยรอบ
วัดเจดีย์เจ็ดยอดอยู่เหนือวัดพระธาตุผาเงาขึ้นไปบนดอยประมาณ 1 กิโลเมตร ตัววัดหักพังหมดแล้ว เหลือแต่เพียงซากอิฐเก่า ๆ แทบไม่เห็นรูปร่างเดิม อาจกล่าวได้ว่า วัดพระธาตุผาเงาและวัดเจดีย์เจ็ดยอดอยู่บนเขาลูกเดียวกัน พื้นที่ต่อเนื่องกันอย่างกว้างขวาง บริเวณร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่ สมกับเป็นสถานปฏิบัติธรรม
วัดพระธาตุจอมกิตติตั้งอยู่บนเนินเขานอกตัวเมืองถนนเลียบแม่น้ำเชียงแสน-เชียงของ ตามพงศาวดารกล่าวว่า พระเจ้าพังคราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง เมื่อ พ.ศ.1483 พร้อมกับพระธาตุจอมทอง เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองสมัยเชียงแสน ต่อมาพระเจ้าสุวรรณคำล้านได้บูรณะและปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุใหม่ในราวพุทธศตวรรษที่ 22-23
วัดสังฆาแก้วดอนหันอยู่ถนนเลียบแม่น้ำเชียงแสน-เชียงของ ใกล้วัดพระธาตุจอมกิตติ มีประวัติตามตำนานว่า สร้างโดยพระเจ้าลวจักราช เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 12 แต่หลักฐานที่พบแสดงว่ามีอายุอยู่ในช่วงไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 21 กรมศิลปากรได้ขุดพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญมากมาย โดยเฉพาะภาพบนแผ่นอิฐเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับทศชาติตอนเวสสันดรชาดก เช่น พระเวสสันดรเดินป่า ชูชกเฝ้าพระเวสสันดร เป็นต้น ลักษณะของภาพเป็นการเขียนลงบนอิฐก่อนการเผา ที่น่าสนใจคือ อิฐดังกล่าวถูกนำมาก่อเป็นผนังและฉาบปูนปิดทับ คงเนื่องจากความศรัทธาของชาวบ้านผู้สร้างวัดถวายมากกว่าเจาะจงให้คนมาชม นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนจิตรกรรมฝาผนังที่หลุดพังมาจากผนังวิหาร มีสภาพแตกหักแต่ยังคงเหลือลักษณะของสีและตัวภาพซึ่งใช้สีชาดและสีแดงเพียง 2 สี นับได้ว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญทางวิชาการอย่างยิ่ง
ทะเลสาบเชียงแสนหรือหนองบงคาย อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงแสนตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๑๖ สายเชียงแสน-แม่จัน ไปประมาณ 5 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายกิโลเมตรที่ 27 เข้าไปอีก 2 กิโลเมตร ในฤดูหนาวจะมีฝูงนกน้ำอพยพมาอาศัยที่ทะเลสาบแห่งนี้ และยังมีทิวทัศน์สวยงามมากเวลาพระอาทิตย์ตก
สบรวก หรือ ดินแดนแห่งสามเหลี่ยมทองคำอยู่ห่างจากเชียงแสนไปทางทิศเหนือ 9 กิโลเมตร ตามถนนเลียบริมแม่น้ำโขง สบรวกเป็นบริเวณที่แม่น้ำโขงซึ่งกั้นดินแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว มาพบกับแม่น้ำรวกซึ่งกั้นดินแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า จากจุดนี้นักท่องเที่ยวจะมองเห็นดินแดนที่เรียกกันว่า สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเชื่อมดินแดน 3 ประเทศ คือไทย ลาว พม่า เข้าด้วยกัน ที่สบรวกมีบริการเรือให้เช่าเพื่อเดินทางไปชมทิวทัศน์บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ใช้เวลาเดินทาง 20 นาที และยังสามารถเช่าเรือจากสบรวกไปยังเชียงแสนและเชียงของได้ ใช้เวลาในการเดินทาง ประมาณ 40 นาที และ 1 ชั่วโมงครึ่งตามลำดับ
หอฝิ่นอุทยานสามเหลี่ยมทองคำห่างจากอำเภอเชียงแสน 9 กิโลเมตร เป็นสถานที่จัดแสดงถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของฝิ่นในสามเหลี่ยมทองคำ ต้นกำเนิดฝิ่น สงครามฝิ่น ผู้นำฝิ่นเข้ามาในเอเชีย ผลกระทบของฝิ่น การยุติการดำรงชีวิตที่ต้องพึ่งพิงกับการปลูกฝิ่นและเสพฝิ่น การฟื้นฟูสภาพชีวิตประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใจกลางสามเหลี่ยมทองคำของ ประเทศไทย เป็นการแสดงนิทรรศการพร้อมสัมผัสกับเรื่องราวต่างๆของฝิ่นแบบคล้ายจริง ใช้เวลาชมเรื่องราวต่างๆ ในหอฝิ่นประมาณ 2-3 ชั่วโมง เปิดวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 08.30-16.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 200 บาท ชาวต่างชาติ 300 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีเข้าชมฟรี 12-18 ปี 50 บาท ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 50 บาท รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ โทร. 053-784444-6 หรือ www.goldentrianglepark.com
พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่นเป็นของเอกชน เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.00-20.00 น. ค่าเข้าชม 5๐ บาท นอกจากนี้ยังจัดทัวร์เกวียน “ฟาร์มคุ้มเจ้าเมือง” โดยเกษตรกรเลี้ยงวัวเทียมเกวียน บ้านสบรวก สามเหลี่ยมทองคำ โดยจัดนำเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ๓ เส้นทาง คือ
- รอบบ่อปลา (ระยะสั้นประมาณ 15-20 นาที) เริ่มต้นจากจุดรับ ผ่านเข้าในแปลงทำนา วนรอบบ่อปลาในนาข้าว ชมวิธีการทำนาในแปลงนาสาธิตและธรรมชาติรอบ ๆ
- รอบพื้นที่ชายป่าและเนินเขา (ใช้เวลาประมาณ 40 นาที) เริ่มต้นจากจุดรับ ชมพื้นที่ทำนาและ ชมบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติจริง ๆ ผ่านดอยกองหลวงเมือง (คุ้มผีเจ้าเมือง) ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านไทยใหญ่
- รอบดอยกองหลวงเมือง (ใช้เวลาประมาณ 50 นาที) เริ่มต้นจากจุดรับผ่านดอยกองหลวง วนรอบหนองน้ำหมู่บ้าน ชมพื้นที่ทำนาและบรรยากาศธรรมชาติรอบหมู่บ้าน
ที่ตั้ง: อยู่ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำ ประมาณ 2 กิโลเมตร ทางไปดอยสะโง้ว สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 053-784060 โทรสาร. 053-784062
พระธาตุดอยปูเข้าตามเส้นทางเชียงแสน-สบรวก แยกซ้ายก่อนถึงสามเหลี่ยมทองคำเล็กน้อย รถยนต์สามารถขึ้นไปถึงยอดเขา หรือจะเดินขึ้นบันไดก็ได้ พระธาตุดอยปูเข้านี้ สร้างขึ้นบนดอยเชียงเมี่ยง ริมปากน้ำรวก เมื่อ พ.ศ. 1302 ในสมัยพระยาลาวเก้าแก้วมาเมือง กษัตริย์องค์ที่ ๒ แห่งเวียงหิรัญนครเงินยาง โบราณสถานประกอบด้วยพระวิหาร และกลุ่มเจดีย์ที่พังทลาย ก่อด้วยอิฐมีร่องรอยการตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น นอกจากนี้บนดอยเชียงเมี่ยงยังเป็นจุดชมวิว สามารถมองเห็นสามเหลี่ยมทองคำได้ชัดเจน