ประวัติพระธาตุดอยตุง
ประวัติพระธาตุดอยตุงโดยย่อ
Sponsored Links :
พระธาตุเจ้าดอยตุง นับเป็นโบราณสถานอันเก่าแก่แห่งหนึ่งในภาคเหนือ ตามประวัติตำนานได้กล่าวไว้ว่า พระมหากัสสะปะเถระเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ได้อาราธนาอัญเชิญเอายังพระบรมสารีริกธาตุกระดูกไหปลาร้า (พระรากขวัญเบื้อซ้าย) ของพระพุทธเจ้า มามอบถวายแด่พระเจ้าอชุตราชเจ้าผู้ครองนครนาคพันธ์โยนกชัยบุรี รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงค์สิงหนวติ เป็นประธานพร้อมด้วยมุกขมนตรีเสวก อำมาตย์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์ ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุขึ้นมาบรรจุสร้างขึ้น ณ ที่ดอยดินแดง (คือ ดอยตุงปัจจุบัน) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1454 ต่อมาอีก 100 ปี มีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อว่า พระมหาวชิรโพธิเถรได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุมามอบถวายให้พระเจ้ามังรายะนะธิราช แล้วจึงได้พร้อมใจกันนำเอาพระบรมธาตุขึ้นบรรจุสร้างให่มขึ้นมาอีกองค์หนึ่งบนดอยตุง พร้อมได้ปฏิสังขรณ์องค์เดิม จากนั้นมาก็ไม่ปรากฏหลักฐานรายนามผู้บูรณะปฎิสังขรณ์ ลุถึง พ.ศ.2470 ครูบาศรีวิชัย นักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งลำพูนพร้อมด้วยคณะศรัทธาชาวพุทธได้ทำการปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์วิหาร พระประธาน กาลเวลาผ่านพ้นมานาน วิหารและพระประธานก็ถูกภัยธรรมชาติครอบงำชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ส่วนองค์พระเจดีย์นั้นยังมีรูปทรงปกติดีอยู่ ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2499 ได้มีอุบาสิกาผู้หนึ่งอยู่ในจังหวัดพะเยา ชื่อว่านางทองคำ ฮั้นตระกูล ได้มีกุศลเจตนาอันยิ่งใหญ่ทำการลงรักปิดทองพระเจดีย์ทั้ง 2 องค์ให้เหลืองอร่ามไป ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2500 องค์สรภาณมธุรส (บ๋าวเอิง) เจ้าอาวาสวัดสมณานัมบริหาร กทม. พร้อมด้วยอุบาสิกาทองคำ ฮั้นตระกูล ได้ทำการก่อสร้างอุโบสถขึ้นหนึ่งหลักพร้อมทั้งพระประธานในอุโบสถ พระสาวก หมอ ชีวกโกมารภัจ ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.2507 ก็ได้มีการดำริในอันที่จะบูรณะองค์พระธาตุดอยตุงครั้งใหญ่ ซึ่งได้ใช้เวลาเตรียมการและหาทุนต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปี ลุถึง พ.ศ.2514-2516 จึงได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จไป 1 องค์พระธาตุ 2 วิหารหลวงที่ประดิษฐานพระประธานสิงห์หนึ่งเชียงแสน 3 พระประธาน สิงห์หนึ่ง ซึ่งได้กราบทูลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จมาเป็นองค์เททอง
ในการบูรณะครั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงองค์พระเจดีย์กันใหม่ ออกแบบโดยอาจารย์ประกิต(จิตร์) บัวบุศน์ องค์พระเจดีย์บุด้วยกระเบื้องโมเสดสีทอง มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป 8 ซุ้ม มีฉัตรประดับทั้ง 4 มุม ดังที่เห็นปรากฏวันนี้ ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2525 ได้มีอุบาสกคนหนึ่งชื่อ ไศลยนต์ ศรีสมุทร์ เจ้าของ และผู้จัดการตลาดแม่สายได้มีกุศลเจตนาอันแรงกล้าได้ทำการเทลานพระธาตุและพร้อมกันนั้นทางวัดก็ได้ทำการก่อสร้างรั้วรอบบริเวณลานพระธาตุอีกโสดหนึ่ง
สำหรับท่านที่ขึ้นมานมัสการพระบรมธาตุเจ้าดอยตุงนั้น ท่านจะสังเกตเห็นว่าวัดพระธาตุดอยตุงนั้นจะมีบริเวณ 2 เขตด้วยกันคือ ชั้นบนนั้นจะเป็นเขตพุทธาวาส นับเอาตั้งแต่ประตูวัดที่มียักษ์นั่งถือขวานอยู่นั้นขึ้นไป ท่านห้ามไม่ให้ใครไปทำสกปรกรุงรังเช่น ถ่ายหนัก ถ่ายเบา เพราะห้องน้ำไม่มี จากที่ประตูวัดลงมาประมาณ 1 กิโลเมตรเป็นเขตสังฆวาส เป็นที่อยู่พำนักของพระสงฆ์องค์เณรและประชาชนทั่วไป ก่อนขึ้นนมัสการพระธาตุ กรุณาจอดรถเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนที่วัดน้อย 1 กิโลเมตร
คำไหว้พระธาตุดอยตุง : นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุธธัสสะ .. (สามจบ)
พิมพา ธะชัคคะ ปัพพะเต นะจุฬาธาตุ จิรัง มะหาคะมา นะมามิหัง อะหังวันทามิ สัพพะทาฯ (สามจบ)
*** ประวัติโดยย่อนี้คัดลอกมาจากเอกสารแจกฟรีบนพระธาตุดอยตุง ***