ประวัติจังหวัดเชียงราย

จังหวัดเชียงราย

เป็นจังหวัดที่อยู่ทางตอนเหนือที่สุดของประเทศไทย ตั้งศาลากลางที่ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย อาณาเขตทิศเหนือจรดแขวงเมืองสาด และแขวงท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน สาธารณรัฐสหภาพพม่า โดยมีทางหลวงแผ่นดินทะลุผ่านถึงกันทางถนนที่เชื่อมต่อไปยังประเทศพม่าที่ด่านพรมแดนแม่สาย อำเภอแม่สาย และในอนาคตที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ถนนสาย R3A ที่อำเภอเชียงของ ส่วนทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับแม่น้ำโขง ทิศตะวันออกจดทิวเขาหลวงพระบางซึ่งปันเขตแดนไทยกับประเทศลาว และติดต่อกับจังหวัดพะเยา ทิศใต้กับจังหวัดพะเยา จังหวัดลำปาง และจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนทิศตะวันตกกับจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเรียกว่าดอยลังกาหลวงหรือดอยแม่โถ เป็นยอดเขาที่มีเส้นแดนติดกันทั้ง 3 จังหวัดบนยอดเขา

จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นจังหวัดที่ใหญ่อีกจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย โดยมีพิ้นที่จังหวัดใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของประเทศไทยและเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนจีนตอนใต้-อินโดจีน

ประวัติเชียงราย

พงศาวดารโยนกว่า พญามังรายสร้างขึ้น ณ ที่ซึ่งเดิมเป็นเวียงชัยนารายณ์ เมื่อ พ.ศ. 1805 และครองราชสมบัติอยู่ ณ เมืองเชียงรายจนถึง พ.ศ. 1839 จึงไปสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นในท้องที่ระหว่างดอยสุเทพกับแม่น้ำปิง และครองราชสมบัติอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่จนถึง พ.ศ. 1860
สำหรับเมืองเชียงรายนั้น เมื่อพญามังรายย้ายไปครองราชสมบัติที่เมืองเชียงใหม่แล้ว พระราชโอรสคือ ขุนคราม หรืออีกชื่อหนึ่งว่าพญาไชยสงคราม ก็ได้ครองราชสมบัติสืบต่อมา นับแต่นั้นเมืองเชียงรายก็ขึ้นต่อเมืองเชียงใหม่

ครั้นต่อมาเมื่อล้านนาตกไปอยู่ในปกครองของพม่า ในปี พ.ศ. 2101 พม่าได้ตั้งขุนนางปกครองเมืองเชียงรายเรื่อยมา หลังจากนั้น พ.ศ. 2317 เจ้ากาวิละแห่งลำปางได้สวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ ทำให้หัวเมืองล้านนาฝ่ายใต้ตกเป็นประเทศราชของสยาม ขณะที่เชียงรายและหัวเมืองล้านนาฝ่านเหนืออื่น ๆ ยังคงอยู่ใต้อำนาจพม่า ล้านนากลายเป็นพื้นที่แย่งชิงอำนาจระหว่างสยามกับพม่า ในช่วงเวลาดังกล่าวเมืองเชียงรายเริ่มร้างผู้คน ประชาชนอพยพหนีภัยสงครามไปอยู่เมืองอื่น บ้างก็ถูกกวาดต้อนลงไปทางใต้ พ.ศ. 2247 เมืองเชียงแสนฐานที่มั่นสุดท้ายของพม่า ถูกกองทัพเชียงใหม่ ลำปาง และน่าน ตีแตก เมืองเชียงรายจึงกลายสภาพเป็นเมืองร้างตามเมืองเชียงแสน

ในปี พ.ศ. 2386 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้เจ้าหลวงเชียงใหม่ฟื้นฟูเชียงรายขึ้นใหม่ ภายหลังเมืองเชียงรายได้เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลพฤศจิกายนพ กระทั่งปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชบัญญัติ ยกเชียงรายขึ้นเป็น เมืองเชียงราย ซึ่ง “เมือง” เป็นหน่วยการปกครองหนึ่งที่อยู่ถัดจาก “มณฑล” ลงมา โดยเมืองเชียงรายเป็นศูนย์กลางควบคุมเชียงแสน ฝาง และพะเยา ภายหลังเมืองเชียงรายได้เปลี่ยนเป็นจังหวัดเชียงราย และเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2520 ได้แบ่งแยกพื้นที่บางส่วนทางตอนใต้ของจังหวัดจัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา จนถึงปัจจุบัน

สัญลักษณ์ประจำจังหวัด

ตราประจำจังหวัด : รูปช้างสีขาวใต้เมฆ หมายถึง นิมิตของความรุ่งเรืองในอดีต เพราะพ่อขุนมังรายเคยใช้ช้างเป็นกำลังสำคัญในการทำศึกปราบศัตรูจนได้ชัยชนะ นอกจากนี้ ช้างยังเป็นชนวนให้พ่อขุนมังรายมาก่อร่างสร้างเมืองนี้ขึ้นอีกด้วย โดยว่ากันว่า ช้างทรงของพ่อขุนมังรายหลุดหายไปจากหลักที่ผูกไว้ พ่อขุนมังรายติดตามไปจนถึงภูมิประเทศอันบริบูรณ์ริมน้ำกก จึงโปรดให้ตั้งเมืองเชียงรายขึ้น ณ ที่นั้น

ดอกไม้ประจำจังหวัด : ดอกพวงแสด (Pyrostegia venusta)

ต้นไม้ประจำจังหวัด : กาสะลองคำ (Radermachera ignea) โดยเป็นไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานให้เป็นไม้ประจำจังหวัดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี

คำขวัญประจำจังหวัด :

เหนือสุดในสยาม ชายแดนสามแผ่นดิน
ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา ล้ำค่าพระธาตุดอยตุง

การปกครอง  การปกครองแบ่งออกเป็น 18 อำเภอ 124 ตำบล 1,751 หมู่บ้าน

  1. อำเภอเมืองเชียงราย
  2. อำเภอเวียงชัย
  3. อำเภอเชียงของ
  4. อำเภอเทิง
  5. อำเภอพาน
  6. อำเภอป่าแดด
  7. อำเภอแม่จัน
  8. อำเภอเชียงแสน
  9. อำเภอแม่สาย
  10. อำเภอแม่สรวย
  11. อำเภอเวียงป่าเป้า
  12. อำเภอพญาเม็งราย
  13. อำเภอเวียงแก่น
  14. อำเภอขุนตาล
  15. อำเภอแม่ฟ้าหลวง
  16. อำเภอแม่ลาว
  17. อำเภอเวียงเชียงรุ้ง
  18. อำเภอดอยหลวง

ที่ตั้ง

จังหวัดเชียงรายตั้งอยู่เหนือสุดของประเทศไทย อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 19 องศาเหนือ ถึง 20 องศา 30 ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 99 องศา 15 ลิปดา ถึง 100 องศา 45 ลิปดาตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 824 กิโลเมตร

ภูมิประเทศ

จังหวัดเชียงรายมีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงในทวีปตอนเหนือ (North Continental Highland) มีพื้นที่ราบสูงเป็นหย่อม ๆ ในเขตอำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า และอำเภอเชียงของ บริเวณเทือกเขาจะมีความสูงประมาณ 1,500-2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล บริเวณส่วนที่ราบตามลุ่มแม่น้ำสำคัญในตอนกลางของพื้นที่ ได้แก่ อำเภอพาน อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ มีความสูงประมาณ 410-580 เมตร จากระดับน้ำทะเล
ตั้งอยู่เหนือสุดของประเทศไทย อาณาเขตของจังหวัดทางทิศเหนือติดกับแคว้นเมืองสาด และ แคว้นท่าขี้เหล็ก ของ รัฐฉาน ประเทศพม่า และ แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว ทิศตะวันออกติดกับแขวงอุดมไซ ประเทศลาว ทิศใต้ติดกับ อำเภอแม่ใจ อำเภอภูกามยาว อำเภอดอกคำใต้ อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ และ อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา อำเภอเมืองปาน และ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ทิศตะวันตกติดกับ อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอพร้าว อำเภอไชยปราการ อำเภอฝาง และ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และแคว้นเมืองสาด ของ รัฐฉาน ประเทศพม่า มีชายแดนติดกับประเทศพม่ายาว ประมาณ 130 กิโลเมตร และมีชายแดนติดต่อกับลาวประมาณ 180 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 11,680 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7,290,000 ไร่

ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง มีป่าไม้ปกคลุม บริเวณเทือกเขามีชั้นความสูง 1,500-2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีที่ราบเป็นหย่อม ๆ ในระหว่างหุบเขา และตามลุ่มน้ำสำคัญ จังหวัดเชียงรายมีภูเขาล้อมรอบโดยเฉพาะทางทิศตะวันตกเป็นแนวเทือกเขาผีปันน้ำ ติดต่อกันไปเป็นพืดตลอดเขตจังหวัด

ภูมิอากาศ

จังหวัดเชียงรายมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 24 องศาเซลเซียส ฤดูร้อน เริ่มจากกลางเดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนพฤษภาคม มีอุณหภูมิประมาณ 37 องศาเซลเซียส ฤดูฝน เริ่มจากกลางเดือนพฤษภาคม-กลางเดือนตุลาคม มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 27 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 1,768 มิลลิเมตร มากที่สุดในปี 2544 จำนวน 2,287.60 มิลลิเมตรน้อยที่สุดในปี 2546 จำนวน 1,404.10 มิลลิเมตร จำนวนวันที่มีฝนตกเฉลี่ย 143 วันต่อปี ฤดูหนาว (พฤศจิกันยายน – กุมภาพันธ์) จังหวัดเชียงรายมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 15.0 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 8.0 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2544 สภาพอากาศของจังหวัดเชียงราย ถือว่าหนาวจัดในพื้นที่ราบ อุณหภูมิต่ำสุดจะอยู่ที่ 8-9 องศาเซลเซียส ส่วนบนยอดดอย อุณหภูมิต่ำสุดจะอยู่ที่ 0-5 องศาเซลเซียส จึงทำให้อากาศที่เชียงรายในช่วงฤดูหนาว เป็นพื้นที่ๆ นักท่องเที่ยวอยากมาเป็นอย่างยิ่ง

 

(ขอบคุณข้อมูลจาก th.wikipedia.org/wiki/เชียงราย)

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.